วันนี้เราจะมานำเสนอแผนการออมเงินง่ายๆที่จะทำให้ทุกคนมีเงินเก็บหลักล้านตอนเกษียณ
เป้าหมายคือ 10 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี
แผนการออมนี้ออกแบบมาสำหรับพนักงานออฟฟิซทั่วไป (แต่จริงๆใครจะนำไปใช้ก็ได้) ใช้หลักคณิตศาสตร์ง่ายๆ เราจะแบ่งการออมเงินออกเป็น 4 ช่วงตามอายุ สมมติว่าเราเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุ 20 จนถึง 60 ปี และได้รับผลตอบแทนต่อปีเฉลี่ยประมาณ 10.4% เทียบเท่ากับผลตอบแทนของ SET index เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา (อ้างอิงจาก SCBAM ข้อมูล ณ วันที่ 14 ธ.ค. 2560)
สมมติว่าเรา start เงินเดือนที่ 15000 บาทต่อเดือน หลักจากหักภาษีอะไรเรียบร้อยแล้ว นักเศรษฐศาสตร์เรียกเงินได้ที่นำไปใช้ได้จริงว่า “disposable income” ใช้ตัวย่อว่า Yd เพื่อใช้ในการบริโภคและเก็บออม
Yd = Consumption + Saving … [1]
และตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาค Saving = Investment
Yd = Consumption + Investment … [2]
สมการ [1] = [2] สรุปคือเงินออมถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เพราะขนาดฝากประจำกับธนาคารยังได้ดอกเบี้ยประมาณ 2.5% ต่อปีเลย ตอนนี้เราจะยังไม่แตะเรื่องผลตอบแทน 10.4% ต่อปีของ SET index ที่เรายืมมาใช้เมื่อตะกี้ (หลายคนอาจคิดว่าจะเป็นไปได้หรอ ที่จะได้ผลตอบแทนขนาดนี้ตลอดอายุการออมเงินของเรา ไว้เราจะกลับมาที่เรื่องนี้ตอนท้ายของบทความ) เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว อ่านแผนการออมของเราด้านล่างต่อได้เลย
แผนการออมเงิน 40 ปี
เริ่มต้นออมเงินเดือนละ 1000 บาท ตอนอายุขึ้นต้นด้วยเลข 2 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตาม step นี้
- อายุ 20-29 ปี ออมเงินเดือนละ 1000 บาท
- อายุ 30-39 ปี ออมเงินเดือนละ 2500 บาท
- อายุ 40-49 ปี ออมเงินเดือนละ 5000 บาท
- อายุ 50-60 ปี ออมเงินเดือนละ 10000 บาท
ถ้าทำตามแผนการออมนี้อย่างเคร่งครัดไม่ขาดไม่เกิน ทุกคนจะมีเงินสะสมครบ 1 ล้านบาทตอนอายุประมาณ 40 ปี (ใช้เวลาออมเงิน 20 ปี ซึ่งหลายคนตอนนี้คงคิดในใจว่าแม่งโคตรนานฮะ!!) ตามรูปด้านล่าง

20 ปี !! ให้ตายเหอะ กว่าจะได้เงินออมสะสมเกินล้านบาท หลายคนถอดใจและเลิกออมไปก่อนที่จะอายุ 40 เลยอดเห็นความยิ่งใหญ่ของ simple math ต่อไปนี้เลย
Compound interest is the eighth wonder of the world (Einstein)
เค้าว่ากันว่า “เงินล้านแรกหายาก” แต่ถ้าได้เมื่อไหร่ เงินล้านที่สองมันจะหาง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย เพราะ “Compound interest” คือสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก เงินหนึ่งล้านกว่าๆของเราตอนอายุ 40 ปี จะโตขึ้นอีกเกือบ 4 เท่าตอนเราอายุ 50 ปี และทะยานขึ้นไปแตะ 13.2 ล้านบาทตอนเราอายุ 60 ปี

แต่ถ้าเราเริ่มออมตอนอายุ 25 ปี (ออมช้ากว่าแผนเดิมของเราไป 5 ปี) ตอนเราอายุ 60 ปี เงินออมสะสมของเราจะหายไปเกือบ 3 ล้านบาทเลย ถ้าเริ่มออมเงินตอนอายุ 30 ปี จะขาดทุนเงินออมไปถึง 4 ล้านบาทตามรูปด้านล่าง

หลายคนน่าจะรู้จัก compound interest (ดอกเบี้ยทบต้น) กันดีอยู่แล้ว แต่หลายคนไม่เคยเห็นรูปแบบการเติบโตของมันว่าจริงๆมันโตแบบ “Exponential” phase I ของการออมเงินช่วงก่อนอายุ 40 ปี เป็นการสร้างรากฐานการเติบโตที่แข็งแรง พอเข้าสู่ phase II เป็นช่วง take off ที่เงินออมของเราจะทะยานแบบก้าวกระโดดเลย
ไวรัสส่วนใหญ่แพร่กระจายด้วย exponential function เช่นเดียวกัน เหมือนสถานการณ์ Ebola Outbreak ในทวีปแอฟริกาตะวันตกระหว่างปี 2014 – 2016 อย่างในประเทศ Sierra Leone พบผู้ติดเชื้อหรือคาดว่าติดเชื้อทั้งหมด 14124 คน เสียชีวิต 3956 คน (เกือบ 30%) ก่อนจะหยุดการระบาดได้ในเดือน ก.พ. 2016

ประเด็นคือไวรัส Ebola มันเริ่มกลายพันธุ์มาก่อนปี 2014 สักระยะนึงแล้วใน phase I ก่อนที่จะพบผู้ป่วยติดเชื้อและสร้างความเสียหายในหลายๆประเทศ (เช่น Sierra Leone, Guinea, Liberia) อย่างรวดเร็วใน Phase II ไม่ต่างกับเงินออมของเราที่เติบโตแบบก้าวกระโดดด้วย compound interest ในช่วงท้ายของแผนการออม 40 ปี
อยากมีเงินใช้สบายตอนบั้นปลายชีวิต ต้องมีวินัยในการออมและลงทุน ช้าแต่ชัวร์
ผลตอบแทนต่อปี
กลับมาที่เรื่องผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 10.4% (annual return) จาก SET index ที่เราใช้คำนวณในตัวอย่างนี้ อาจดูสูงเกินไปสำหรับใครหลายคน และในชีวิตจริงตลาดหุ้นคงไม่ดีติดต่อกันอย่างนี้ตลอด 40 ปี
เราเลยพยายามจะหาผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ใกล้เคียงกับความจริงของใครหลายๆคน เช่น กองทุนรูปแบบต่างๆอย่าง LTF RMF ฯลฯ (มีการกระจายความเสี่ยง) อ้างอิงจากเว็บ WealthMagik ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีของบริษัทหลักทรัพย์และธนาคารดังๆหลายเจ้า ก็ได้ผลตอบแทนค่อนข้างดีเลย หรือคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเลย จะออมในเงินฝากประจำอย่างเดียวก็ได้ด้วยดอกเบี้ยประมาณ 2.5% ต่อปี
สิ่งที่ทุกคนต้องรู้คือผลตอบแทนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เรามีเงินเก็บทะลุ 10 ล้านตอนเกษียณ ถ้าเรามาลอง “Reverse Engineering” เงินสิบล้านก้อนนี้จะพบว่ามันถูก driven ด้วยหลายๆปัจจัยตามรูป diagram ด้านล่าง
- ออมเงินให้มากขึ้นต่อเดือน อาจตั้งเป้าหมายว่า 15-20% ของเงินเดือน สำคัญมากคือต้องออมก่อนใช้ ไม่ใช่ใช้ก่อนแล้วค่อยออม
- บริโภคแต่พอประมาณ ใช้สอยอย่างประหยัด Yd = C + S ถ้าเราลด C แน่นอนว่า S ต้องเพิ่ม
- สำหรับมนุษย์เงินเดือน หาทางเพิ่มรายได้ต่อเดือน หลักๆมี 2 วิธี คือ …
- หาความรู้เพิ่มเติม เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ทำงานดีขึ้น ปรับเงินเร็วขึ้น
- หาแหล่งรายได้อื่นๆ เช่น ทำธุรกิจส่วนตัว เปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ online business หรือเปิด start up ของตัวเอง ฯลฯ วิธีนี้ค่อนข้างยาก ส่วนตัวเราก็ไม่ค่อยแนะนำ เพราะจากสถิติอัตราการเจ๊งสูงเหมือนกัน
- ความรู้กับแหล่งรายได้อื่นๆ มีความสัมพันธ์กันด้วย รู้เยอะ ก็เพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
- ต่อเนื่องมาจากข้อที่สาม การจะเพิ่มความรู้ได้ มีทางเลือกหลักๆ 4 วิธี คือ …
- เรียนต่อเพื่อใบปริญญา ต่างประเทศมีภาษีกว่าหน่อยแต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
- ฝึกอบรม training ต่างๆ หรือไปงาน meet-up เจอคนเก่งๆ
- เรียนออนไลน์กับ world class platform อย่าง coursera, edx, futurelearn, udacity
- อ่านหนังสือ วิธีนี้ง่ายสุด เดินตรงไปที่ AsiaBooks หรือ Kinokuniya เลย
- เรียนความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21

ความรู้ที่จำเป็นในยุคนี้
อาชีพที่ตลาดแรงงาน หลายบริษัทในประเทศไทยต้องการอย่างมาก แต่มีความขาดแคลนสูง คือ …
- data analytics, data science, data engineer
- big data analytics, cloud computing
- software development, computer science
- UI/ UX designer & developers
ทุกงานที่เขียนมาด้านบนมัน overlap กันด้วยเรื่อง programming/ coding skill จริงๆ อันนี้ไม่ได้จะเชียร์ให้ทุกคนเขียนโค้ดเป็น แต่ถ้าเขียนได้ จะเพิ่มโอกาสในชีวิตได้อีกเยอะเลย สามารถเป็น alternative source of income เพิ่มเติมจากเงินเดือนประจำของเราได้ไม่ยาก
ทุกคนควรเรียนการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ เพราะมันช่วยให้คุณคิดเป็น (Steve Jobs)

เส้นทางที่ตัวแอดแนะนำเป็นแบบรูปด้านบน อันนี้พูดจาก first-hand experience จากคนที่เริ่มทำงานตอนปี 2010 รายได้รวมตลอดปีได้แค่ 150,000 บาท มาถึงปี 2017 รายได้ทั้งปีเกิน 1,000,000 บาทแล้ว เพราะใช้ชีวิตตาม diagram นี้เลย (ปี 2012 กับปี 2016 ไม่ได้ทำงาน เพราะไปอยู่ต่างประเทศมา)
ปัจจัยเดียวที่เราคุมไม่ได้คือ “External factor” ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัญหาฟองสบู่ ฯลฯ ถ้าใครชอบความเสี่ยงต่ำ จะฝากประจำ 2.5% ต่อปี แต่เบิ้ลเงินออมต่อเดือน 2 เท่าไปเรื่อยๆ ตอนอายุ 60 ปีก็จะมีเงินสะสมเกิน 6 ล้านบาทเหมือนกัน fairly good!
สรุป

- “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในความรู้” (Warren Buffett)
- ออมก่อน รวยก่อน อย่าลืมว่าการออม = การลงทุน เพราะมีผลตอบแทนไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือเงินปันผล
- ตรงนี้สำคัญมาก ดอกเบี้ยและเงินปันผลห้ามถอนออกมาใช้ แต่ต้อง reinvest ออมต่อไปเรื่อยๆ
- compound interest โตแบบ exponential เหมือนการกระจายตัวของไวรัส แต่ใช้เวลาสร้างฐานใน phase I ค่อนข้างนาน ต้องใจเย็นๆ อย่าเลิกซะก่อน
- การลงทุนมีความเสี่ยง ศึกษาดีๆก่อนลงทุน
ขอบคุณที่อ่านบทความจนจบ โชคดีกับแผนการออมเงิน 40 ปีนะคร้าบทุกคน 🙂 ดาวน์โหลดไฟล์ Excel ตัวอย่างการคำนวณเงินออมได้ฟรีที่ลิ้งนี้เลย Saving plan 40 year
ปล. นี้ไม่ใช่ blog การลงทุน แค่เขียนให้อ่านเล่นๆ แฮร่ !!
Reblogged this on paohue.