Generalism เก่งขึ้นทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด โดย Pat Flynn

ไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่งของโลก เราก็สามารถก้าวไปข้างหน้าใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ธุรกิจ ความรักก็เช่นกัน (หื๊มม!) .. แล้วหลักการที่จะช่วยพาเราไปสู่ความสำเร็จนี้คืออะไร? แอ่แฮ่มมม

It’s Generalism! หรืออีกชื่อคือ Jack of All Trades, Master of None

Generalism คือวิถีการเรียนรู้ทักษะหลายๆอย่าง (skill stacking) ที่ตอบโจทย์ชีวิตของเรา Generalist เชื่อว่าความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่เราต้องวิ่งตามหา แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นด้วยตัวเอง แม้แต่ความสุขก็เป็นทักษะที่สามารถสร้างได้ ทำไมมันยิ่งใหญ่อย่างนี้! บทความนี้เราสรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “How to be better at (almost) everything” โดย Pat Flynn (2019)

Pat Flynn คือใคร?

ตอนซื้อหนังสือ แอดก็ไม่เคยได้ยินชื่อ Pat Flynn มาก่อนเลย 555+ ซื้อมาเพราะชื่อหนังสือน่าสนใจ พออ่านจบแล้วแบบว่าโคตรดีย์! Pat คือ True Generalist เป็นทั้งฟิตเนสเทรนเนอร์, นักกวี, เขียนหนังสือ, เล่นกีตาร์, และเป็นเจ้าของธุรกิจที่อายุยังไม่ถึง 30 แต่มีรายได้หลายร้อยล้านทั้งๆที่เก่งไม่สุดสักอย่าง

บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 10 นาที ครอบคลุม 5 หลักการสำคัญของ Generalism ก่อนจะไปที่ key principles มาทำความเข้าใจเหตุผลที่เราควรเป็น generalist มากกว่า specialist กันก่อน

Why Become A Generalist?


Generalist = Jack of All Trades ทำได้หลายอย่าง แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดสักด้าน (ที่มา – medium)

“สังคมของเราถูกครอบงำด้วยคำว่า specialist มานานมากแล้ว และเราควรหยุดความเชื่อนี้สักที” – Pat Flynn

ตอนสมัยมัธยม Pat อยากเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ i.e. specialist ฝึกเล่นกีต้าร์ solo ทุกวันจนเล่นเทคนิคยากๆได้ Pat คิดว่าตัวเค้าน่าจะเก่งที่สุดในโรงเรียนแล้ว (ทั้งโรงเรียนมีเด็กเล่นกีต้าร์อยู่ 10 กว่าคน)

ส่วนเพื่อนอีกคนชื่อ Tom เล่นกีต้าร์ไม่เก่งเท่า Pat ทำได้แค่ตีคอร์ดง่ายๆ + ร้องเพลงคลอไปด้วย แต่กลับได้รับคำชมจากเพื่อนๆในโรงเรียนมากมาย และนี่คือบทเรียนข้อที่หนึ่ง [การร้องเพลง + เล่นกีต้าร์] คือการสร้าง skill stack แบบ generalist ที่นำทักษะหลายๆอย่างมาใช้ร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะไม่เก่งที่สุดสักด้านแต่ก็ได้ผลตอบรับดีกว่าการเป็น specialist ที่โซโล่กีต้าร์เป็นอย่างเดียว

บทเรียนที่สองคือ พอเราเป็น specialist เราจะเริ่มคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องแล้ว 5555+ เพราะ specialist จะดึงดูดแต่ specialist ด้วยกันเอง อย่างตอนที่ Pat เล่นโซโล่กีต้าร์ด้วยเทคนิคยากๆ เพื่อนๆไม่ได้ชื่นชมทักษะการเล่นกีต้าร์ของ Pat เท่าไหร่เพราะไม่เข้าใจ นอกจากจะเป็นนักดนตรีด้วยกัน ถึงจะเห็นว่า skill นั้นมันคูลจริงๆ

และบทเรียนที่สามคือการเป็น specialist ยากกว่าที่เราคิดและเป็นเส้นทางที่อาจไม่มีความสุขเท่าไหร่ เพราะโลกนี้มีคนเก่งกว่าเราเสมอ Pat คิดว่าตัวเองเล่นกีต้าร์เก่งมาตลอดจนเข้ามหาวิทยาลัยถึงรู้ว่าที่ผ่านมา skill กีต้าร์ของเค้าก็แค่ระดับทั่วไปถึงแม้ว่าจะฝึกหนักวันละ 10 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์

การเป็น specialist ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม (DNA) ที่ได้มาจากบรรพบุรุษของเรา โอกาสทางสังคม ฐานะการเงินของครอบครัว เป็นต้น

สมองของ Einstein ที่เหนือกว่าคนทั่วไป

งานวิจัยด้าน neuroscience พบว่าสมองของ Albert Einstein มีจำนวน glial cells สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งจำนวน glial cells ส่งผล (+) โดยตรงต่อความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์คนนั้น

Generalist ในทางตรงกันข้าม ไม่จำเป็นต้องพึ่งดวงหรือฐานะทางบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีสมองหรือ DNA ที่ดีกว่าคนอื่น ใครๆก็สามารถเป็น generalist ได้ ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ make a living และมีความสุขในเวลาเดียวกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ แอดต้องบอกว่า Generalism เป็นมากกว่าแค่ปรัชญาการเรียนรู้ เพราะมันช่วยให้เราค้นพบความหมายของชีวิต มีทั้งอิสรภาพและความสุขในแบบที่เราต้องการ – Let’s me explain this to you!

Freedom and Happiness

Related image
Thomas Aquinas (1225-1274) ผู้ให้กำเนิด Freedom of Excellence หัวใจของ Generalism

Libertarian เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรมีอิสระในการตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองโดยไม่ถูกใครบังคับหรือแทรกแซง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Freedom of Indifference (หรืออีกชื่อคือ Freedom of Choice)

ถ้า Freedom of Indifference ให้เสรีภาพมนุษย์ทุกคนในการเลือกทำอะไรก็ได้ที่อยากทำภายใต้กฎระเบียบของสังคม แล้วชีวิตจะมีความสุขจริงหรือเปล่า? คำตอบคืออาจจะไม่ .. liberal ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุข

การที่เรามีสิทธิ์เลือกไม่ได้แปลว่าเราจะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ หลายครั้งเราเลือกทำในสิ่งที่ต้องการทั้งๆที่มันอาจไม่ใช่เรื่องดี เช่น การดื่มน้ำอัดลม รู้ว่าไม่ดีต่อร่างกาย แต่เราก็หยุดดื่มไม่ได้

Thomas Aquinas (1225-1274) จึงได้เสนอ freedom อีกประเภทหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มสมการความสุขของมนุษย์ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเป็น Generalist คือ Freedom of Excellence

The freedom for excellence is the power to be the best human being we can be.

Thomas Aquinas (1225-1274)

Freedom of Excellence คือการ say YES กับกิจกรรมที่ช่วยพัฒนา skill ที่เราต้องใช้ และ say NO กับกิจกรรมที่พาเราออกห่างจากเป้าหมายของชีวิต ถ้าอยากมีสุขภาพแข็งแรง เราต้องเลือกกิน clean food > junk food, เลือกน้ำเปล่า > น้ำอัดลม, เลือกการเข้ายิมออกกำลังกาย > นอนเล่น Facebook หรือถ้าอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เราต้องเลือกฝึก skill ใหม่ > การหายใจทิ้งไปวันๆ

Freedom of Excellence คืออิสรภาพที่เกิดจากการมีข้อจำกัด (Restrictions) ตัวอย่างเช่น เราเลือกที่จะจำกัดตัวเองด้วยการไม่เล่น social media และใช้เวลากับการพัฒนาตัวเองวันนี้เพื่อที่เราจะได้เป็นคนที่เราอยากเป็นในวันพรุ่งนี้ อีกชื่อหนึ่งของ Freedom of Excellence คือ Freedom of Self-Expression

ถ้าเราฝึกภาษาอังกฤษวันนี้ (Freedom of Excellence) พรุ่งนี้เราจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น (Freedom of Self-Expression) ในโลกของ Generalist เราเข้าใจว่า Excellence เทียบเท่ากับ Self-Expression วันที่เราได้เป็นในสิ่งที่เราอยากเป็น และสามารถทำในสิ่งที่เราอยากทำ ความสุขคือของรางวัลจากการฝึกฝนของเรา

Aristotle อีกหนึ่งปราชญ์ด้าน Generalism

Aristotle เชื่อว่าการเป็นมนุษย์คือการได้รู้ ได้ทำ ได้สร้างสิ่งที่ดี (know, do, make good things) ความสุขเกิดจากการได้รู้ ได้ลงมือทำ ยิ่งทำสิ่งดีๆได้มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความสุขได้มากขึ้นเท่านั้น <3

Generalism คือปรัชญาแห่งความสุขและการพัฒนาตนเองผ่าน Freedom of Excellence ยิ่งรู้มาก ยิ่งทำมาก ยิ่งมีความสุขมาก มนุษย์เรียนรู้ทักษะต่างๆเพื่อจะได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดอย่างที่ใจต้องการ

แล้ว Generalist มีหลักการเรียนรู้อย่างไรให้เก่งขึ้นทุกวัน? ทุกอย่างเริ่มจากการทำ Skill Stacking …

Key Principles

Pat Flynn ผู้แต่งหนังสือ How to be better at (almost) everything

Generalist ใช้หลักการ 5 ข้อต่อไปนี้ในการพัฒนาทักษะของตัวเอง

  1. Skill Stacking > Specialization
  2. Short Term Specialization
  3. The Rule of 80 Percent
  4. Integration > Isolation
  5. Repetition and Resistance

Skill Stacking

Core principle แรกของการเป็น Generalist คือการทำ skill stacking เรียนรู้หลายๆทักษะ ฝึกฝนแต่ละทักษะให้ดีแต่ไม่ต้องดีที่สุด เรียนอย่างเดียวไม่พอ เราต้อง combine skills ทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อการใช้งานจริงด้วย

Generalist ต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากจะเป็นหรือทำอะไร? ยิ่ง specific ได้เท่าไหร่ยิ่งดี สมมติว่าเราตั้งเป้าว่าจะเป็น data analyst เราก็ค้น Google ดูว่าตำแหน่งงานนี้ต้องใช้ skill อะไรบ้าง แล้วเราก็เริ่มเรียนทีละ skill แล้วค่อยๆนำ skill เหล่านั้นมาเรียงต่อกัน (stacking)

Generalist เชื่อว่าการทำ skill stacking ถึงแม้ว่าแต่ละ skill ของเราจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ ก็ช่วยให้เราทำงานหลายๆอย่างได้ดีกว่าคนที่ชำนาญแค่ skill เดียวแล้ว i.e. specialist

Short Term Specialization

Generalist ใช้ Short Term Specialization เพื่อฝึกฝนและสร้างทักษะใหม่ แปลว่าอะไร? และมันต่างกับการเป็น specialist อย่างไร?

  1. Short Term Specialization คือการฝึกฝนเพียง 1-2 skills จนกว่าเราจะใช้ skill พวกนั้นได้ดีพอ i.e. competent + good to great, but not the best
  2. Specialist ใช้การเรียนแบบ Long Term Specialization (ไปให้สุด รู้ลึก รู้จริง) แต่ Generalist จะเน้นการเรียนแบบ Short Term Specialization ใช้เวลาไม่นานและหมุนวิชาเรียนไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเรียนให้สุดสักวิชาเพราะไม่ได้อยากเป็นเหมือน specialist

Tip – Generalist ใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Surge and Maintain” สมมติเรามีเวลา 2 ชั่วโมงสำหรับฝึกฝนในแต่ละวัน เราจะใช้เวลา 1.40 ชั่วโมงฝึกฝน new skill ที่เราต้องการจะสร้างในช่วงเวลานั้นๆ (surge) และใช้เวลา 20 นาทีที่เหลือทบทวน old skills ที่เราทำได้อยู่แล้ว (maintain)

The Rule of 80 Percent

พอถึงจุดสีแดง input 1 ชั่วโมงที่เราใช้ฝึกจะได้ additional output กลับมาน้อยลง (ที่มา – link)

ถ้าเก่งที่สุดในโลกคือ 100% Generalist จะไม่เรียนเกิน 80% ของ skill นั้นๆ เหตุผลที่ไม่ควรเรียนเกิน 80% อธิบายได้ด้วยกฎธรรมชาติที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “The Law of Diminishing Returns” เวลาหนึ่งชั่วโมงที่เราใช้ฝึก skill นั้นๆ ได้ผลตอบแทน (gain) น้อยลงมากเมื่อผ่านระดับ optimal ไปแล้ว

Generalist เลยบอกว่า งั้นกูเอาเวลาไปเรียนวิชาอื่นดีกว่า! 5555+

Tip – เราไม่จำเป็นต้องเรียนให้ถึง 80% ด้วยซ้ำ บางกรณีเรียนแค่ 40-50% ก็ทำอะไรได้เยอะมากแล้ว ถ้าการรู้คำศัพท์ 2,000 คำทำให้เราพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนเจ้าของภาษา Generalist จะตั้งเป้าเรียนที่ 1,600 คำ แค่ให้เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน (จุด optimal จริงๆขึ้นอยู่กับ context ที่เราต้องการใช้งานด้วย)

Integration > Isolation

Generalist เลือกวิชาเรียนตาม goal ที่เราวางไว้ (ย้อนกลับไปดู skill stacking principle อีกที) ถ้าอยากเป็น data analyst ก็ไม่ต้องไปลงเรียน graphic design ให้เสียเวลา make sense?

Integration คือการ stack + combine skills ทั้งหมดที่เรามี แล้วทดสอบว่าเราทำงานตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ดีแค่ไหน? เราอาจพบว่ามีบาง skill ที่เราต้อง isolate ออกมาฝึกแยกต่างหากเพราะว่าเรายังไม่ชำนาญ ไม่สามารถ integrate กับ skills อื่นๆของเราได้ดีพอ

Integration ยังช่วยเช็คด้วยว่าถึงเวลาที่เราต้องเรียน skill ใหม่หรือยัง? ถ้า skill stack ของเราทำงานได้ดีแล้ว แต่เรายังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้สักที Generalist จะรู้เลยว่าถึงเวลาต้องเรียน skill ใหม่แล้ว 😛

Tip – Generalist เชื่อว่าไม่มี skill ไหนที่เรียนแล้วสูญเปล่า เราสามารถนำมันกลับมา integrate ทำ skill stack ได้หมดเลย (ขึ้นอยู่กับ goal ของเรา ณ เวลานั้นด้วย) ถ้า skill ไหนยังไม่แข็ง ให้ isolate ไปฝึกเดี่ยวแล้วค่อยกลับมา integrate ตอนจบก็ได้

Repetition and Resistance

การเรียนรู้และฝึกฝน skill อย่างถูกต้องคือการประยุกต์ใช้ Repetition + Resistance (concept เดียวกับการทำ Deliberate Practice ของ K. Anders Ericsson)

  • Repetition คือการทำซ้ำ และทบทวน (จะได้ไม่ลืม)
  • Resistance คือการเพิ่มแรงต้าน ให้การฝึกฝนของเรายากขึ้นเรื่อยๆ (ถ้าไม่เพิ่มความยาก ก็เหมือนเราย่ำอยู่กับที่)

Generalist ใช้เทคนิค surge and maintain ในการฝึกฝน skill ใหม่ และทบทวน skill เก่า (ถ้าจำไม่ได้ ให้ย้อนกลับไปดูที่หัวข้อ short term specialization) สมมติเราวางแผนการเรียน coding ไว้ 4 สัปดาห์ วันละ 1 ชั่วโมง

  • Week 1 – เรียนพื้นฐาน การสร้างตัวแปร data type
  • Week 2 – เรียน data structure และ control flow (+ ทบทวน week 1)
  • Week 3 – เรียนการเขียน function และ module ต่างๆ (+ ทบทวน week 1, 2)
  • Week 4 – ลองสร้างโปรเจ็คง่ายๆด้วย skill ทั้งหมดที่ฝึกมา (integration!!)

Tip – Generalist ปรับแผนการฝึกด้วยการเพิ่มชั่วโมง, เพิ่มความถี่ในการเรียน (เช่น เช้าหนึ่งรอบ เย็นหนึ่งรอบ), ทำแบบฝึกหัด หรือแค่เริ่มเรียนหัวข้อใหม่ในแต่ละสัปดาห์ก็ถือเป็นการเพิ่มแรงต้านในการฝึกฝนของเราแล้ว

Let’s Recap

ส่วนตัวแอดคิดว่า Generalist คือแนวทางการพัฒนาตัวเองที่ใช่สำหรับยุคนี้เลย เรียนรู้แบบกว้าง แล้วค่อย Deep Dive ในเรื่องที่เราสนใจ ทวีคูณทักษะของเราไปเรื่อยๆ

Generalist = True Freedom (ขอบคุณรูปสวยๆจาก Unsplash)
  • Generalist มี 5 หลักการไว้ฝึกทักษะใหม่คือ skill stacking, short term specialization, 80% rule, integration และ repetition & resistance
  • Freedom of Indifference มีสิทธิ์เลือกทำอะไรก็ได้ ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุข
  • Freedom of Excellence คือหัวใจสำคัญของ Generalism การเป็นมนุษย์คือการได้รู้ ได้ทำ ได้สร้างสิ่งที่ดี (ยิ่งมาก ยิ่งดี)
  • Generalist ใช้ชีวิตได้ง่ายกว่า Specialist เพราะเราไม่ต้องแข่งให้เหนือกว่าใคร ความสุขเกิดได้จากการทำกิจกรรมดีๆที่ช่วยสร้าง skill ของเรา

อ่านแล้วคิดเห็นยังไง คอมเมนต์คุยกันได้นะครับทุกคน

4 thoughts on “Generalism เก่งขึ้นทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด โดย Pat Flynn

  1. ได้องค์ความรู้นำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้มากๆเลยครับ อ ทอย

  2. ขอบคุณบทความดีๆ ครับ ทำให้ได้แนวคิดใหม่ๆ

  3. ขอบคุณที่แชร์ เป็นแนวคิดที่เยี่ยมมากครับ

  4. เฉียบครับ กำลังดู AWS แต่มาโผล่เพจนี้เฉย มีอะไรให้ดูเยอะมาก ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

Leave a Reply