ทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์คือ Learning Skill – เรียนได้มากขึ้น จำได้มากขึ้น นำความรู้ในสมองออกมาใช้ได้มากขึ้นคือสิ่งที่ Barbara Oakley และ Terry Sejnowski ตั้งใจสอนในคอร์ส Learning How to Learn

สถิติ ณ วันที่ 4 เมษายน 2562 มีนักเรียนสมัครเรียนคอร์สนี้ทั่วโลกมากกว่า 1.7 ล้านคน 41,870 รีวิว คะแนนเฉลี่ย 4.8/5.0 เป็นคอร์สเรียน MOOC ระดับท๊อปของโลกบนเว็บไซต์ Coursera (สมัครเรียนฟรีที่นี่)
🍌 A Mind for Numbers
เนื้อหาของคอร์ส Learning How to Learn มาจากหนังสือ A Mind for Numbers ของ Barbara Oakley สนนราคาเล่มละ $9 บน Amazon Kindle เนื้อหาในหนังสือเยอะกว่าคอร์สออนไลน์มาก อ่านคุ้มเลย
บทความนี้สรุปเนื้อหาสำคัญของ Learning How to Learn และเหตุผลที่ทุกคนต้องเรียนคอร์สนี้ด้วยตัวเอง
Table of Contents
Why This Course
- หลายสำนักยกให้ Learning How to Learn เป็นคอร์สเรียน MOOC ที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งของโลก
- เนื้อหาในคอร์สมาจากงานวิจัย Cutting-Edge Research ด้าน Neuroscience
- Barbara Oakley เรียนจบด้านภาษาศาสตร์ <รัสเซีย> และเริ่มเรียนเลขตรีโกณตอนอายุ 26 ปี ปัจจุบันเป็น Professor ด้าน Engineering ที่ Oakland University
- Terry Sejnowski เป็นเพื่อนกับ Geoffrey Hinton ทั้งสองคนเป็นผู้บุกเบิกด้าน Computational Neuroscience ให้พวกเราได้มี Neural Networks ใช้กันทุกวันนี้

How Your Brain Work
สมองมนุษย์โดยเฉลี่ยหนักประมาณ 1.3-1.4 กิโลกรัม แต่บริโภคพลังงานประมาณ 20% ของร่างกายในแต่ละวัน เป็นอวัยวะที่ซับซ้อนที่สุดในจักรวาลที่เรารู้จัก แอดเขียนสรุปความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมองให้อ่านด้านล่าง
Fact #1 – สมองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตื่นนอนทุกเช้าเหมือนเราอัพเกรดสมองใหม่ รูปด้านล่าง Terry แสดงภาพสมองของสัตว์ก่อนและหลังการเรียนรู้ที่ Synapses ตรง dendrite ของนิวรอนแตกหน่อใหม่ภายในเวลา 24 ชั่วโมง สิ่งนี้ยืนยันว่าการเรียนรู้และการนอนช่วยเปลี่ยนสมองได้จริง
🍌 Neuron, Axon, Dendrites และ Synapses คืออะไร?
Neuron (นิวรอน) คือเซลล์ระบบประสาทในสมองที่ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ หน้าที่หลักของนิวรอนคือการสื่อสาร (communicate) นิวรอนส่งข้อมูลหากันด้วย Axon และรับข้อมูลจากเซลล์อื่นๆด้วย Dendrites ผ่านพื้นที่ว่างที่เรียกว่า Synapses อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ที่ Brain Facts

Fact #2 – สมองสร้างนิวรอนใหม่ทุกวัน และทุกวันนิวรอนบางส่วนก็จะตายไปเช่นกัน ทำไมนิวรอนถึงตาย? ถ้าเราไม่หยิบนิวรอนพวกนั้นมาใช้ มันก็จะตายไปเลย 555+ ยกตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือจบหนึ่งรอบ เราอาจจะจำเนื้อหาในหนังสือได้ประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นสิ่งที่เราอ่านมาจะเริ่มเลือนหายไปเพราะนิวรอนตาย
แล้วเราจะทำยังไงให้ความรู้นี้อยู่ติดตัวเราตลอดไป (i.e. นิวรอนไม่ตาย แถมมีสุขภาพแข็งแรง) เราตอบคำถามนี้ในหัวข้อ Learning Strategy ด้านล่าง แต่ตอนนี้มาดูความแตกต่างระหว่าง Focused และ Diffuse Mode ก่อน
🍌 แต่ถ้ารอไม่ไหว อยากรู้วิธีทำให้นิวรอนแข็งแรง คลิก!
ในโลกนี้ไม่มีอะไรดีเท่าการออกกำลังกายอีกแล้ว Neuroscience พิสูจน์แล้วว่าการออกกำลังกายช่วยให้นิวรอนที่เกิดใหม่ขึ้นมามีสุขภาพแข็งแรง “อะไรที่ดีต่อหัวใจ ดีต่อสมองเช่นกัน” อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้นิวรอนไม่ตายคือการทำ Spaced Repetition ทบทวนความรู้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง
Focused vs. Diffuse
Barbara อธิบายว่าการเรียนรู้ของมนุษย์มีอยู่สองระบบคือ Focused และ Diffuse ทั้งสองระบบช่วยเรื่องการเรียนรู้ของเราไม่เหมือนกัน และเราไม่สามารถอยู่ในสองโหมดนี้ได้ในเวลาเดียวกัน แปลว่าถ้าตอนนี้เราอยู่ในโหมด Focused ก็จะไม่สามารถใช้ความสามารถของโหมด Diffuse ได้
- Focused – เรียนอย่างตั้งใจ ใช้พลังสมาธิเต็มที่กับหนังสือตรงหน้า โหมดนี้ทุกคนน่าจะรู้จักดีอยู่แล้ว
- Diffuse – เรียนสบายๆ (Relaxing) ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Let your mind run free” เช่น นั่งพักบนเก้าอี้โซฟาที่เราชอบ หรือไปเดินเล่นในสวนสาธารณะชิลๆ
🍌 ทำไมต้องเข้าสู่ Diffuse Mode?
การเรียนแบบ Focused Mode ใช้พลังงานเยอะมาก i.e. เผาแคลอรี่รัวๆ ถ้าพลังงานลดลงสมองจะทำงานได้ช้าลงเป็นเหตุผลที่เราต้องเปลี่ยนไป Diffuse Mode เพื่อลดการใช้พลังงานให้สมองได้ผ่อนคลาย
กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การเรียนแบบสลับไปมาระหว่างสองโหมด Focused → Diffuse → Focused → Diffuse ตอนเรียนมาถึงตรงนี้ทำให้แอดนึกถึงหนังสือ Thinking Fast and Slow (2013) ของ Kahneman

Daniel Kahneman เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในปี 2002 อธิบายว่าการตัดสินใจของมนุษย์แบ่งเป็นสองระบบคือ System 1 และ System 2 สอดคล้องกับโหมดการเรียนรู้ที่ Barbara อธิบายเรื่อง Focused และ Diffuse ทฤษฎีของทั้งสองคนนี้เหมือนกันยังไง? แอดทำตารางเปรียบเทียบให้ดูด้านล่าง
Daniel Kahneman | Barbara Oakley |
System 1 (ระบบอัตโนมัติ จิตใต้สำนึก) | Diffuse |
System 2 (รู้ตัว ควบคุมเองได้) | Focused |
System 1 ของ Kahneman มีชื่อเล่นสั้นๆว่า Autopilot เมื่อเปรียบเทียบกับ Diffuse Mode คือการปล่อยให้สมองมันหาคำตอบด้วยตัวของมัน (โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลย) การนั่งสบายๆบนโซฟา หรือตอนเดินเล่นในสวน สมองเราไม่เคยหยุดหาคำตอบให้กับปัญหาของเราเลย หลายครั้งที่เราได้คำตอบดีๆโดยที่ไม่ต้องคิดเยอะเลยด้วยซ้ำ สรุปคือเวลาเจอปัญหายากๆที่แก้ไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานั้นอาจเป็นการหยุดพัก
🍌 Connecting The Dots โดย Steve Jobs
Steve Jobs เคยพูดประโยคเด็ดเรื่อง “Connecting The Dots” ซึ่งแอดคิดว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานของ Diffuse Mode โดยตรง ยิ่งสมองเรียนความรู้ใหม่ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่มันจะสร้าง Random Connections ที่มีประโยชน์ได้มากขึ้นเท่านั้น เหมือนตอนที่ Steve Jobs เรียนการออกแบบฟ้อน Typography สมัยอยู่มหาวิทยาลัย ผ่านไปสิบปีสตีฟได้ใช้ความรู้นี้อีกครั้งตอนออกแบบ Macintosh
Barbara อธิบายเพิ่มเติมว่าใน Diffuse Mode สมองจะพยายามสร้าง Random Connections กับนิวรอนในส่วนต่างๆเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ ตรงกันข้ามกับ Focused Mode ที่เราบังคับสมองให้คิดในสิ่งที่เราต้องการ
Memory

ในคอร์สเรียน Learning How to Learn แบ่ง Memory ออกเป็นสองแบบ
- Working Memory – เป็นความจำระยะสั้นมากเอาไว้ใช้งาน ณ เวลานั้นเลย สมองจะเก็บข้อมูลได้จำกัดมาก ประมาณ 4 Chunks ลองนึกภาพตอนพยายามจำเบอร์โทรศัพท์ของตัวเองครั้งแรก แค่เลขสิบหลักก็จำแทบไม่ได้แล้ว
- Long Term Memory – วิธีที่จะเปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นระยะยาวคือการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากๆ ยิ่งต้องใช้เวลาฝึกนานขึ้น
เทคนิคสำคัญที่ Barbara สอนสำหรับการสร้างความจำระยะยาว (Long Term Memory) เรียกว่า “Spaced Repetition” การอ่านหนังสือ 20 รอบในหนึ่งวัน ได้ผลไม่ดีเท่าการอ่านหนังสือวันละ 1 รอบเป็นเวลา 20 วัน
อย่างที่เราอธิบายไปตอนแรก แม้แต่ตอนนอน สมองก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งจำนวนนิวรอนและรูปร่างของ Synapses อีกหนึ่ง process ที่เกิดขึ้นตอนเราหลับคือ “Memory Consolidation” การอัดเนื้อหาทั้งหมด 100% ให้จบในหนึ่งวัน สมองจะไม่สามารถรวบรวมความรู้เหล่านั้นได้ทั้งหมด ทำให้ข้อมูลบางส่วนหายไป
วิธีการที่จะสร้างความจำระยะยาวอย่างได้ผลคือ Spaced Repetition (หรืออีกชื่อคือ Spaced Rehearsal) อ่านซ้ำวันละนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 7-14 วัน เป็นต้น ยิ่งอยู่กับเรื่องนั้นนานเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสจำได้มากขึ้นเท่านั้น
🍌 แชมป์โลกด้านความจำเค้าทำ Spaced Repetition ยังไง?
Kevin Horsley แชมป์โลกด้านความจำเขียนหนังสือ Unlimited Memory (2016) อธิบายขั้นตอนการทำ Spaced Repetition ของเค้าไว้แบบนี้ – ให้รีวิวความรู้นั้นหลังจากภายไป 1 ชั่วโมง, 1 วัน, 7 วัน, 14 วัน, 21 วัน, 28 วัน, 2 เดือน, 3 เดือน และความรู้นั้นจะฝังลึกอยู่ในสมองเราตลอดไป พร้อมให้เรียกใช้งานเสมอ
Procrastination
ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของการเรียนรู้คือ Procrastination แปลไทยว่า โรคไว้ก่อน เด๋วพรุ่งนี้ค่อยทำ!
Procrastination เกิดขึ้นกับทุกคน สมองเรามักจะปฏิเสธสิ่งที่เราไม่ชอบ (ทั้งๆที่สิ่งนั้นอาจเป็นเรื่องดี) เช่น พอจะเริ่มอ่านหนังสือ สมองจะง่วงทันที 555+ หรือถูกสมองสั่งให้เปิด Facebook เล่นดีกว่า สนุกกว่าเยอะ!
🍌 Procrastination สุขชั่วคราว เศร้าชั่วโคตร
Procrastination เป็นการถูกสมองหลอกให้มีความสุขแค่ชั่วคราว ได้ผลเหมือนการใช้ยาเสพย์ติดเลย การเอาชนะ Procrastination เป็นหนทางสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคนิคที่พิสูจน์มาแล้วว่าสู้กับ Procrastination ได้จริงคือ Pomodoro (ภาษาอิตาลี แปลว่า มะเขือ) คิดค้นโดย Francesco Cirillo ในปี 1980s ขั้นตอนการทำ Pomodoro ก็ง่ายๆตามนี้
- ปิดมือถือ ปิดทีวี อยู่ในที่เงียบๆคนเดียว (หรือหาหูฟัง noise cancellation มาใช้ก็ได้)
- ใช้นาฬิกาจับเวลา 25 นาที
- ทำงานด้วย Focused Mode เป็นเวลา 25 นาทีเสร็จแล้วพัก 5 นาที
- จับเวลาอีก 25 นาที พัก 5 นาที อีกทั้งหมด 3 รอบ (รวมทั้งหมด 4 รอบ)
- เสร็จแล้วพักยาว 30 นาที ให้สมองเข้าสู่ Diffuse Mode
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่ม ไม่จำเป็นต้องทำให้ครบ 4 รอบตาม Original Pomodoro ก็ได้ ส่วนตัวแอดคิดว่าเริ่มทำแค่ 1-2 รอบก็พอแล้ว ตัว Barbara เองบอกว่าบางครั้งเค้าทำแค่ 20 นาทีด้วยซ้ำ ปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม
งานวิจัย Neuroscience พบว่าวิชาที่เราคิดว่ายากในตอนแรก เช่น การเรียน Math & Science หรือการเขียนโค้ด พอเราเริ่มทำครั้งแรกได้แล้ว ครั้งต่อๆไปมันจะง่ายขึ้นเอง ฝึกใช้ Focused + Diffuse สลับกันตอนเรียน
🍌 จะทำ Pomodoro ให้สำเร็จต้อง Focused!
โทรศัพท์มือถือเป็นของอันตรายมาก เอาไปไว้ไกลตัวได้จะดีมาก (ถ้าตาไม่เห็น สมองก็จะไม่คิดถึงมัน) เป้าหมายของ Pomodoro ไม่ใช่การอ่านหนังสือให้จบทั้งเล่ม แต่เป็น Process 25 นาทีที่เราใช้ซึมซับความรู้ อย่าตั้งเป้าว่าจะอ่านให้จบกี่หน้าๆในเวลา 25 นาที เพราะถ้าทำไม่ได้ เราจะทุกข์เปล่าๆ!
Learning Strategy

มาถึงสรุปที่ทุกคนรอคอย กลยุทธ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ Learning How to Learn ทั้งหมด 8 ข้อ พร้อมคำอธิบายแต่ละหัวข้อด้านล่าง (ที่แอดชอบมากของคอร์สนี้ คืออาจารย์อธิบายด้วยว่าทำไมต้องทำแบบนี้)
- Sleep
- Exercise
- Focused Mode (ใช้เทคนิค Pomodoro) + Diffuse Mode
- Recall + Test
- Interleaving
- Spaced Repetition
- Deliberate Practice
- Motivation
เหตุผลที่เราต้องนอนมีสองข้อ [1] สมองใช้เวลาตอนเราหลับทำ memory consolidation สร้างนิวรอนและ synapses ใหม่ [2] สมองทำความสะอาดสารพิษที่เกิดขึ้นตอนเราตื่น สะสมมาทั้งวันให้หายไป ถ้าเรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีสารพิษตกค้างในสมอง การเรียนรู้และการตัดสินใจของเราจะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดเลย
การออกกำลังกายคือยาที่ดีที่สุดที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเรา Neuroscience พบว่าการออกกำลังกายช่วยให้นิวรอนเกิดใหม่มีสุขภาพแข็งแรง ความจำของเราอยู่ได้นานขึ้น (นิวรอนแข็งแรงก็ไม่ตายง่ายๆ)
🍌 Focused Mode + Pomodoro + Diffuse Mode
Focused Mode + Pomodoro เพื่อต่อสู้กับ Procrastination โรคเอาไว้ก่อน! ตั้งเวลา 25 นาทีเพื่อโฟกัสและใช้เวลา 5 นาทีเพื่อ Diffuse (Relax) การเรียนอย่างมีประสิทธิภาพคือการสลับไปมาระหว่างสองโหมด
เทคนิคที่ช่วยให้เราจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีที่สุดคือการทำ Recall + Test ว่าเราเข้าใจเรื่องที่เรียนมากน้อยแค่ไหน Recall คือการที่เราปิดหนังสือแล้วพยายามนึกด้วยตัวเองว่าเราจำอะไรได้บ้าง ส่วน Test คือการลองทำโจทย์ ทดสอบความรู้ของเราเป็นระยะๆ Barbara บอกว่าในเวลาที่เท่ากัน การทำ Test ได้ผลดีกว่าการนั่งอ่านหนังสืออย่างเดียวเยอะมาก
🍌 หยุดการใช้ไฮไลท์ หยุดอ่านซ้ำอย่างซอมบี้
งานวิจัยพบว่าการใช้ Highlight ขีดหนังสือเยอะๆ และการอ่านหนังสือซ้ำหลายๆรอบ (แบบไม่มี Recall + Test) ไม่เป็นผลดีต่อการเรียนเท่าไหร่ เป็นเพียงการหลอกตัวเองว่าเราเข้าใจเนื้อหานั้นแล้ว
อีกหนึ่งเทคนิคที่ Barbara แนะนำให้ใช้คือ Interleaving หรือการเปลี่ยน + ผสม subject ที่เรากำลังเรียนอยู่ เช่น การออกกำลังกาย เราอาจจะจัดโปรแกรมฝึกวิ่ง ยกน้ำหนัก วิดพื้น และแพลงค์ร่วมกันก็ได้ ในแง่จิตวิทยาการทำ Interleaving ช่วยให้การเรียนรู้ของเราสนุกและน่าสนใจขึ้น (ถ้าเราเป็นคนเลือกวิชาเหล่านั้นด้วยตัวเอง)
Spaced Repetition คือการทบทวนและทำซ้ำวันละนิด เช่น คอร์สเรียน 30 วัน ก็ควรเรียน 30 วัน ไม่ใช่อัดวันเดียวจบเพราะสมองไม่สามารถ Consolidate ความรู้เหล่านั้นได้หมดในหนึ่งวันเพื่อสร้าง Long Term Memory การทำ Spaced Repetition จะได้ผลดีมากถ้าวันนี้เราใช้เทคนิคนี้คู่กับ Deliberate Practice
🍌 หัวใจของ Deliberate Practice
Deliberate Practice คือการฝึกฝนที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ การทบทวนทำซ้ำแต่เรื่องเดิมๆไม่ช่วยให้เราเก่งขึ้นหรอก เหมือนการยกน้ำหนัก ต้องค่อยๆเพิ่มน้ำหนักเพื่อให้กล้ามเนื้อโตและแข็งแรงขึ้น การเรียนรู้ก็เช่นเดียวกัน การตั้งเป้าเรียนเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆคือหัวใจของ Deliberate Practice
และข้อสุดท้ายคือ Motivation แรงจูงใจในการเรียน เราเรียนในสิ่งที่เราอยากเรียน และต้องมีสิทธิ์เลือกความรู้เหล่านั้นด้วยตัวเอง ส่วนตัวแอดคิดว่าข้อนี้คือจุดแข็งของคอร์สออนไลน์แบบ MOOC ที่ทำให้การเรียนออนไลน์ของแอดสนุกขึ้นมาก (เลือกวิชาเรียนเอง เรียนเวลาที่เราต้องการ และเก่งขึ้นทุกวัน)
ลองหยุดถามตัวเอง ว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร?
หลายคนเรียนเพราะอยากเปลี่ยนสายงาน (อยากมีเงินเดือนเยอะขึ้น) การเรียนเพื่อเงินไม่ใช่ Motivation ที่ดีเท่าไร ลองตั้งเป้าให้ยิ่งใหญ่กว่านั้น เรียนเพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้น เรียนเพื่อเอาความรู้ไปเปลี่ยนแปลงสังคม เรียนเพื่อพ่อและแม่ของเรา Aim for something BIGGER than yourself
🍌 แรงจูงใจในการเรียนออนไลน์ของแอด (optional)
แอดเรียนเพราะอยากรู้ เรียนเพราะอยากเก็บใบเซอร์ให้ครบ 100 ใบ เรียนไม่หยุดเพราะมีหลายคนเคยดูถูกเราไว้ว่า เราทำไม่ได้หรอก ยิ่งมีคนบอกว่าเราทำอะไรไม่ได้ เรายิ่งต้องทำเลย และสุดท้ายเรียนเพื่อจะได้เอาความรู้มาแชร์ต่อบนเพจ มีคนอีกตั้ง 100,000+ คนที่น่าจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราเขียนวันนี้ 😀
📝 หนังสืออีกเล่มที่เปลี่ยนชีวิตแอดเลยคือ How to Be Better at Almost Everthing ของ Pat Flynn แอดมีเขียนสรุปเรื่อง Generalist ไว้แล้ว เพื่อนๆที่สนใจลองอ่านดูได้นะครับ
Brain Food
สำหรับหัวข้อสุดท้าย อันนี้ไม่ได้มีในคอร์ส Learning How to Learn แต่แอดคิดว่าทุกคนควรรู้ไว้คือเรื่องอาหารสมอง นักวิจัยพบว่ามีอาหารบางประเภทที่ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น และหาซื้อไม่ยากในประเทศไทย
🍌 Dehydration ส่งผลต่อการเรียนอย่างไร?
สมองมนุษย์ประมาณ 73% มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ การนอน 6-7 ชั่วโมงเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายเราขาดน้ำนานที่สุด นักวิจัยเรียกสภาวะนี้ว่า Dehydration ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้โดยตรงทั้งเรื่อง Attention และ Short Term Memory สิ่งแรกที่ควรทำตอนตื่นนอนทุกเช้าคือการดื่มน้ำแก้วใหญ่ๆหนึ่งแก้ว
แอดเอา List นี้มาจาก Jim Kwik ตัวจริงเรื่องการพัฒนาสมองและความจำระดับโลก {ไข่, บลูเบอร์รี่, อะโวคาโด, บร๊อคโคลี่, ขมิ้น, ดาร์คช็อคโกแลต, น้ำมันมะพร้าว, โอเมก้า 3 จากน้ำมันปลา, แซลมอน และถั่ววอลนัท}

Start Today
อ่านมาขนาดนี้ ต้องเอาไปลองทำแล้ว! แอดยังแนะนำให้ลงเรียนคอร์สนี้ด้วยตัวเอง Learning How to Learn โดย Barbara Oakley และ Terry Sejnowski คุ้มค่าทุกนาทีที่ได้เรียน ถ้าบทความนี้มีประโยชน์ กดแชร์ให้เพื่อนได้อ่านด้วยนะคร้าบ ขอบคุณทุกคนที่ติดตาม Happy Learning 😛

Leave a Reply to AnonymousCancel reply